chemistry-tips-6-intention-of-the-person-taking-the-exam

ตอนที่ 6 เจตนาของคนออกข้อสอบ

ตอนนี้จะมี 3 ส่วน

– ทำยังไงเมื่อลังเลและวิธีสังเกต?
– เคสตัวอย่างล่าสุด
– สรุป


ทำยังไงเมื่อลังเลและวิธีสังเกต?

เคยเป็นมั้ยครับที่ลังเลตอนทำข้อสอบ ทั้งๆที่คิดมาจนสุดทางแล้ว สิ่งที่ช่วยให้เราได้คะแนนคือดูเจตนาของคนออกข้อสอบให้ออก จับทางให้ได้ วิธีสังเกตมีอยู่

1. ดูจากช๊อยส์ ยกตัวอย่างว่าโจทย์บรรยายข้อความมา 2-3 บรรทัด แล้วให้พิจารณาข้อความ ก ข ค ง ข้อใดถูก

    1) ก เท่านั้น

    2)  ก และ ข

    3)  ข และ ค

    4)  ข และ ง

    5)  ค และ ง

สมมติว่าเรามั่นใจว่า ก ถูกแน่ๆ ส่วน ค ง ผิดแน่ๆ เหลือแต่ ข ที่เราลังเล ให้สังเกตครับว่า ข มีอยู่ในหลายๆช๊อยส์มาก จึงน่าจะถูกด้วย และในมุมของคนออกข้อสอบ ถ้าเขากำหนดให้ ข ผิด โจทย์ข้อนี้จะตัดช๊อยส์ได้ง่ายเกินไป

2. ดูจากข้อความชี้นำในโจทย์ ให้ลองอ่านโจทย์แบบไม่ใช่เพื่อหาคำตอบ แต่ให้วิเคราะห์ว่าแต่ละประโยคนั้นคนแต่งโจทย์คิดอะไรถึงเขียนแบบนี้ พอมุมมองของเราเปลี่ยนไป เราอาจจะเห็นอะไรๆมากขึ้น เช่นอาจจะตีโจทย์ไปได้อีกทางหนึ่ง หรือจับไต๋คนแต่งโจทย์ได้เลยก็มี

บางครั้งเรามั่นใจว่าเราคิดถูกแน่ๆ แต่ด้วยความกำกวมของโจทย์ ข้อความในช๊อยส์ ที่อาจตีความได้สองอย่าง หรือไม่ได้กำหนดเงื่อนไขบางอย่างมาให้ (ซึ่งพอเดาได้) หลายๆครั้งถ้าเรายึดความถูกต้องเป๊ะๆเป็นหลัก อาจจะไม่มีคำตอบหรือไม่ใช่ช๊อยส์ที่ถูกตามเจตนาของคนออกโจทย์ กรณีแบบนี้ถ้าเน้นได้คะแนน ให้ดูเจตนาของคนออกข้อสอบเป็นหลัก บางทีภาษามันดิ้นได้ เป๊ะมากไปก็ไม่ได้คะแนน

เคสตัวอย่างล่าสุด

หลังประกาศคะแนนสอบพรีแอดฯ มีน้องคนหนึ่งมาปรึกษาผม (น้องได้คะแนนสูงสุดของประเทศ) ถ่ายโจทย์มาตามรูปนี้ ประเด็นของเคสนี้คือ ข้อ B. ไนลอน 6, 6 เป็นจุดที่ทำให้เสียคะแนนจึงเอามาถาม หลังจากดูรูปแล้วอย่าเพิ่งอ่านต่อ ลองฝึกเดาเจตนาของข้อสอบกันดูครับ

รูปประกอบ 06 ตอนที่ 6 เจตนาของคนออกข้อสอบ

ในมุมมองผม ต้องชื่นชมความฉลาดของ อ.ทีมออกข้อสอบที่เลือกจุดนี้มาออกข้อสอบพรีแอดฯ เพราะไม่มีผลต่อคะแนนสอบจริง แต่มันจี้จุดปัญหาได้ดีทีเดียว ทำไมผมพูดแบบนี้

เพราะถ้าปล่อยให้เอาจุดที่กำกวมแบบนี้มาออกสอบจริง จะกลายเป็นประเด็นที่มีเด็กหลายคนออกมาเรียกร้อง (โอกาสโดนด่าสูง) จึงชิงออกประเด็นนี้ตอนพรีแอดฯซะเลย สังเกตจากคำพูดในเฉลย ใช้ตามหนังสือเป๊ะ (ขีดส้ม) แถมยังชี้เป้าไปที่หนังสือเรียนหลักสูตรปี 60 ให้อีก (ขีดเขียว)

ขนาดในหนังสือเรียนเองยังใช้คำว่า “นิยม” ซึ่งแปลว่า ฟันธงไม่ได้ชัดเจน และจุดนี้เปลี่ยนแปลงจากที่เราเรียนๆกันมาหลายสิบปี

ตัดสินว่าเป็น homopolymer ถ้าเกิดจากมอนอเมอร์ชนิดเดียว และจะถือว่าเป็น copolymer ถ้าเกิดจากมอนอเมอร์มากกว่า 1 ชนิด เป็นพอลิเมอร์จาก อ้างอิงได้จากหนังสือเรียนก่อนหน้าปี 60 ในรูปนี้คือหลักสูตรปี 51

รูปประกอบ 06 b ตอนที่ 6 เจตนาของคนออกข้อสอบ

เราเรียนแบบนี้กันมาตลอด แล้วมาเปลี่ยนหลักการเอาตอนปี 60 แถมยังใช้คำว่า “นิยม ไม่นิยม” ที่ไม่ชัดเจนอีก แต่อย่างที่ผมบอกครับ ถ้าเราจะออกมาในข้อสอบจริง เจตนาจะไม่ใช่เพื่อชี้เป้าแบบพรีแอดฯ แต่เจตนาคือวัดว่า “รู้ไหม” อ้างอิงตามหลักสูตรปัจจุบัน ถ้าอยากได้คะแนนเราก็ต้องตอบตามหนังสือ ถ้ายึดหลักการเดิม ก็ต้องลุ้นทีหลังว่าข้อนี้จะให้ฟรีมั๊ย

สรุป

เมื่อฝึกวิเคราะห์ จับทาง เจตนาของโจทย์บ่อยๆ จนชิน เวลาอ่านโจทย์เราจะไม่ถูกโจทย์ลวง ชี้นำ หรือพาคิดอ้อม แถมยังช่วยให้หาคำตอบได้เร็วกว่าเดิม เพราะ

– บางทีช๊อยส์มันก็ฟ้องเจตนาคนออกข้อสอบแล้วว่าควรตอบข้อไหน

– บางครั้งเขาแค่ให้เราเปรียบเทียบ 2 อย่างว่าอะไรน้อยกว่า ก็ไม่คำนวณตัวเลขออกมาละเอียดเป๊ะๆให้เสียเวลา

เมื่อฝึกจนเป็นนิสัย ใจเราจะนิ่ง ไม่ลน ไม่ตื่นเต้น การตัดสินใจอะไรๆก็เฉียบแหลมกว่า (ความตื่นเต้น กลัวโจทย์ ลน เกิดจากอ่านโจทย์แล้วพยายามทำตามโจทย์สั่ง) อย่าให้โจทย์สั่งเราได้ครับ รู้ให้ทัน จับทางให้ถูก คนออกข้อสอบก็คนเหมือนกับเรานี่แหละ มีความรู้สึกนึกคิด มีหลงลืมบ้าง ผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา คิดให้ได้แบบนี้แล้วความกลัวข้อสอบจะค่อยๆลดลงไปเองครับ

พูดถึงเทคนิคในห้องสอบมาหลายอย่างแล้ว ตอนหน้าเราจะพูดถึงปัญหาที่นักเรียนเกือบทุกจนเจอ คือทำไมเรียนแล้วทำโจทย์ไม่ค่อยได้